ค่าจ้างต้องเริ่มยังไง

ค่าจ้างต้องเริ่มยังไง

“มีวิธีการหลีกเลี่ยงหรือหลบหลีกมั้ย” นี่เป็นคำถามลำดับแรกๆ เมื่อคุยเรื่องค่าจ้างและการจ้าง…กับเจ้าของธุรกิจที่มีความช่ำชองในเชิงธุรกิจ อีกทั้งไม่จำกัดว่าเป็นธุรกิจเล็กหรือใหญ่ แต่เป็นเหมือนซิกซ์เซนส์ของคนประกอบกิจการ ที่หากว่าเมื่อมีกฎเกณฑ์อะไรก็ตามก็อยากจะปฏิบัติให้น้อยที่สุด หรือไม่ต้องปฏิบัติอะไรได้บ้าง ดังนั้น ค่าจ้างต้องเริ่มยังไง จะว่ากันตามธรรมเนียมแล้วก็ไม่ใช่เรื่องแปลกหรือเรื่องใหม่อะไรนัก ดังนั้นเราก็จะมาลองศึกษาวิธีการต่างๆ ที่เจ้าของธุรกิจบางคนได้ใช้แล้วก็นำมาพูดมาอวดให้กับผู้ประกอบการรายใหม่ๆ ฟัง เราจะมาเปิดเผยดูว่าวิธีการต่างๆ เหล่านั้นเค้าทำกันอย่างไร จริงหรือเท็จและจะจับผิดกันอย่างไร เท่าที่คนวงในจะบอกได้กันครับ แต่ก่อนจะไปตามเส้นทางสีเทาอย่างนั้น เราจะมาต้องรู้ถึงเส้นทางสีขาวซึ่งเป็นทางเส้นทางปกติในการจ้างงานกันเป็นเบื้องต้นเสียก่อน

การจ่ายค่าจ้าง ไม่ได้สลับซับซ้อนเหมือนอย่างการทำบัญชี เพียงแต่การจ่ายค่าจ้างมีความยุ่งยากวุ่นวายเกี่ยวกับเอกสาร และข้อกำหนดเป็นสำคัญ โดยเฉพาะงานการจ่ายค่าจ้างนั้นไม่จำเป็นจะต้องใช้ผู้มีใบประกอบวิชาชีพเฉพาะด้านเหมือนงานบัญชีหรือวิศวกร และไม่จำเป็นต้องไปจ้างพนักงานบุคคลหรือจ้างเอาท์ซอสที่ไหนให้เสียค่าใช้จ่ายมากมาย เจ้าของกิจการเล็กๆ ก็สามารถเริ่มต้นทำได้ด้วยตนเอง

ผมเชื่อว่าส่วนใหญ่แล้ว เราเริ่มต้นธุรกิจจากเจ้าของคนเดียวหรือเริ่มจากคนสองคน ที่อาจเป็นเพื่อนหรือญาติพี่น้องมาหุ้นกัน แต่ก็ทำธุรกิจแบบเจ้าของคนเดียวนั่นแหละ หรือที่เรียกกันในทางบัญชีว่า “บุคคลธรรมดา” โดยมีความหมายง่ายๆ ว่า ทำทุกหน้าที่ ทำเองทุกอย่างตั้งแต่ต้นจนจบ เราจะมาทำความรู้จักแต่ละหัวข้อที่ต้องเริ่มกันก่อนแล้วลงรายละเอียดกันต่อไป

ค่าจ้างต้องเริ่มยังไง …มาเริ่มต้นกันเลย

เริ่มเรื่องแรกคือเรื่องของสรรพากร โดยธุรกิจทุกขนาดไม่ว่าเล็กแบบไม้จิ้มฟันหรือใหญ่แบบเรือรบ ก็รู้จักกันดีในนามของคำว่า “ภาษี” ซึ่งเจ้าของทุกคนต้องให้ความสำคัญ ซึ่งนอกจากจะเกี่ยวข้องกับงานบัญชีแล้ว ยังข้องแวะกับการจ่ายค่าจ้างโดยตรงนั่นก็คือการนำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่ายเมื่อจ่ายค่าจ้างให้กับลูกจ้าง ภาษีที่นำส่งนี้ ลูกจ้างเป็นผู้จ่าย “ภาษี” ให้กับรัฐ เรียกรายการนำส่งภาษีนี้ว่า ภงด.1 เจ้าของกิจการจะนำส่งทุกเดือนหรือสรุปปีละครั้ง ก็แล้วแต่ค่าจ้างที่จ่ายให้ลูกจ้าง ถ้าจ้างน้อยกว่า 26,000 บาทต่อเดือน ก็สรุปยื่นปีละครั้ง แต่ถ้าจ้างสูงกว่า 26,000 บาทต่อเดือน ก็ต้องยื่นทุกเดือน

ลำดับที่สองคือเรื่องกฎหมายแรงงาน ที่เจ้าของกิจการต้องเข้าใจในข้อกำหนดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน ซึ่งชื่อ พรบ.ก็ชัดเจนว่าคุ้มครองลูกจ้างเป็นหลัก ซึ่งมีข้อกำหนดที่ใช้บังคับและสิ่งที่ต้องรู้ในการจ้างงาน เช่น ค่าจ้างขึ้นต่ำที่รัฐกำหนด รวมค่าอะไรได้บ้างประเภทการจ้างแบบรายวันหรือรายเดือนมีอะไรที่แตกต่างกันบ้าง สัญญาจ้างต้องทำหรือไม่ต้องทำอย่างไร วันลาประเภทต่างๆ และวันหยุดประจำปี อีกทั้งยังรวมถึงผลตอบแทนต่าง ๆ ด้วย เช่นค่าล่วงเวลาที่เรียกกันติดปากว่าโอที ค่าทำงานในวันหยุด เบี้ยเลี้ยง ไปจนถึงการเลิกจ้างว่ามีเหตุหรือปัจจัยใดบ้าง ที่ทำให้ต้องจ่ายหรือไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและค่าบอกกล่าวล่วงหน้า

ลำดับที่สามคือเรื่องสวัสดิการของลูกจ้างและพนักงาน คือกองทุนประกันสังคม(ปกส.) และกองทุนเงินทดแทน กองทุนปกส. จะเน้นสวัสดิการเมื่อลูกจ้างเจ็บป่วย ต้องหาหมอต้องเข้าโรงพยาบาล ซึ่งเจ้าของกิจการจะต้องหักเงินจากค่าจ้างของลูกจ้าง ตามอัตราที่กำหนดเพื่อนำส่งกองทุนปกส. ที่สำคัญคือ เจ้าของกิจการจะต้องส่งเงินสมทบเพิ่มเข้ากองทุนปกส. ด้วย ในอัตราเดียวกับที่ลูกจ้างจ่าย ส่วนกองทุนเงินทดแทนจะเน้นสวัสดิการเมื่อลูกจ้างประสบอุบัติเหตุจากการทำงาน โดยเจ้าของกิจการเป็นผู้จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนฝ่ายเดียว ปีละครั้ง

ยังมีอีก 2 ส่วนงานที่ต้องจัดการเรื่องสวัสดิการ แต่จะบริหารจัดการก็ต่อเมื่อกิจการมีลูกจ้างตั้งแต่ 100 คนขึ้นไป คือกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เพื่อช่วยเหลือสังคมโดยจ้างคนพิการ หรือนำส่งเงินสนับสนุนแทนการจ้างคนพิการ และอีกหนึ่งกรมก็คือกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อให้ธุรกิจจัดอบรมให้ความรู้กับลูกจ้าง หรือนำส่งเงินสนับสนุนแทนการจัดอบรม

ยังมีสวัสดิการอีกกลุ่มหนึ่ง ที่เจ้าของธุรกิจควรเรียนรู้ไว้ นั่นคือ กรณีต้องการจะจ้างแรงงานต่างด้าว เพื่อทดแทนแรงงานชาวไทยที่มีจำนวนไม่เพียงพอไม่ต้องการทำงานใช้แรงงาน อย่างไรก็ตามแรงงานต่างด้าวที่พูดถึงนี้ หมายถึงแรงงานกรรมกรและคนรับใช้ตามบ้าน ส่วนใหญ่ก็เป็นชาวเมียนมา กัมพูชา หรือลาว ไม่นับรวมถึงแรงงานต่างด้าวที่มีฝีมือ เช่น ฝรั่งหรือชาวญี่ปุ่นที่เป็นวิศวกรตามโรงงานหรือสำนักงานใหญ่ๆ ซึ่งปัจจุบันการจะจ้างแรงงานต่างด้าวให้ถูกต้องตามกฎหมาย มีเพียงวิธีเดียวเท่านั้นที่ถูกต้อง เรียกว่า “นำเข้าแรงงานตามข้อตกลงการจ้างแรงงานต่างด้าวระหว่างประเทศ” เท่านั้น ที่มักเรียกกันว่า การจ้างแบบ MOU (Memorandum of Understanding) ก็เท่ากับว่าถ้าจะจ้างแรงงานต่างด้าวกันจริงๆ จะมีภาระต้องรับผิดชอบเพิ่มเพื่อจ้างแรงงานต่างด้าวอีกพอสมควร เพราะต้องจัดการเกี่ยวกับการขอโควต้า การจัดทำเอกสารและมีขั้นตอนการจ้างเพิ่มขึ้น อาจต้องดูแลค่าใช้จ่ายเสมือนเป็นสวัสดิการทางอ้อมต่างๆ อีกเช่น ค่าดำเนินการ ค่าเดินทางของลูกจ้างต่างด้าว ค่าใบอนุญาตทำงาน ค่าตรวจโรค นับแล้วอีกจิปาถะ ที่ลูกจ้างต่างด้าวหรือบริษัทนายหน้าหาแรงงาน อาจขอเรียกเก็บบางส่วนจากเราเพื่อดึงดูดให้แรงงานต่างด้าวสนใจมาทำงาน

สมัยก่อนการจ้างแรงงานต่างด้าวนั้น จะมีข้อดีที่จ่ายค่าจ้างต่ำกว่าการจ้างคนไทย แต่ปัจจุบันนี้ข้อดีด้านจ่ายค่าจ้างต่ำ น่าจะไม่มีแล้ว เพราะกฎหมายก็ให้จ่ายค่าจ้างลูกจ้างต่างด้าวด้วยเงินค่าจ้างอัตราเดียวกับลูกจ้างคนไทย หากจ่ายต่ำกว่าก็หาแรงงานต่างด้าวไม่ค่อยได้เช่นกัน แถมผิดกฎหมายอีกและอาจจะสร้างปัญหาที่คาดไม่ถึงเกิดขึ้นตามมา ยกเว้นแต่ว่าในครอบครัวมีการจ้างแม่บ้านเป็นชาวต่างด้าวอยู่แล้ว จะให้มาช่วยงานเพิ่มเติมในร้านบ้างจะได้ไหมนั้น ส่วนนี้ก็พอปฏิบัติกันได้แบบช่วยเหลือกันในครอบครัว แต่ไม่ควรนำมาพิจารณาเป็นลูกจ้างของกิจการ เพราะยุ่งยากซับซ้อนในการจ้างและการจัดการเกินไป ไม่เหมาะกับธุรกิจบุคคลธรรมดาครับ

ทั้งสามหัวข้อหลักที่กล่าวมานี้ จะต้องจัดทำและเก็บเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการจ่ายค่าจ้างไว้ เพื่อนำส่งเงินต่อกรมสรรพากร สำนักงานประกันสังคมและอื่นๆ ซึ่งควรจะแยกเก็บข้อมูลเป็นเดือน ๆ เพื่อสะดวกและง่ายต่อการค้นหารายการย้อนหลัง หรือสะดวกต่อการนำไปใช้ในเพื่อการบันทึกบัญชีของกิจการ รวมทั้งเมื่อทางราชการเรียกตรวจสอบข้อมูลประจำปี ทั้งนี้มีเอกสารที่สำคัญอย่างยิ่งในมุมมองของลูกจ้าง นั่นก็คือ “สลิปเงินเดือน” หรือรายการแสดงการจ่ายค่าจ้างในแต่ละเดือนหรือแต่ละงวดการจ่าย เพราะนอกจาลูกจ้างเอาไว้ใช้ตรวจเช็ครายได้รายหักแล้ว ยังเอาไว้ใช้ขอเครดิตจากธนาคาร หรือใช้ในการกู้ยืมต่างๆ อีกด้วย

เรื่องค่าจ้างอันเป็นหลักใหญ่ใจความ หรือประเด็นสำคัญที่ผู้ประกอบการต้องรู้ ประมาณนี้ก็มากเพียงพอแล้ว ลำดับถัดไปเกี่ยวกับ ภงด. ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก มาติดตามกันต่อไปนะครับ

admin

Spread the love

Related Posts

BUS-466 (Sec 1: เช้า) จองวันเวลานำเสนอ

คำแนะนำการจองวันเวลานำเสนอ1. เลือกได้เฉพาะวันอังคารของแต่ละเดือน โดยคลิ๊กวันที่ในปฏิทิน ตามวันที่ต้องการ หากวันอังคารใดขี้นรูปนาฬิกาแสดงว่ามีผู้จองบางเวลาแล้ว แต่หากขึ้นสีแดงแสดงว่าจองเต็มครบทุกเวลาแล้ว2. ใส่ข้อมูล รหัส, ชื่อ, นามสกุล3. เลือกลำดับเวลาที่ต้องการ (หากเป็นสีเทาอ่อน หมายถึงมีผู้จองแล้ว) Sec 1-เช้า
ภาษีบุคคลธรรมดา

ภาษีบุคคลธรรมดา

การค้าขายแบบบุคคลธรรมดา คือการเปิดร้านขายของหรือให้บริการทั่วไป เช่น ร้านขายของชำหน้าหมู่บ้าน ร้านขายข้าวแกงขายก๋วยเตี๋ยว ร้านขายยา ร้านตัดผม รับซักรีด เป็นต้น รวมถึงงานฟรีแลนซ์รับจ้างออกแบบ งานเขียนโปรแกรม งานรับเหมาซ่อมแซมต่าง ๆ และการค้าขายแบบบุคคลธรรมดาในธุรกิจ SME
ค่าจ้างต้องรู้ SME

ค่าจ้างต้องรู้ ฉบับสร้างธุรกิจ SME ให้ดี ดัง ปังนาน

ค่าจ้างต้องรู้ ฉบับ สร้างธุรกิจ SME ให้ดีดังปัง นาน นี้เหมาะกับผู้ประกอบการยุคดิจิทัล แล้วทำไม ผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจต้องรู้เรื่องค่าจ้าง ลองพิจารณาผู้คนในยุคปัจจุบันนี้โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่เมื่อจบการศึกษาแล้ว ก็มักจะมีเป้าหมายอยากทำธุรกิจของตนเอง ไม่ต้องการเป็นลูกจ้างใคร เราจึงเห็นคนวัยรุ่นหนุ่มสาวจนถึงรุ่นใหญ่วัยกลางคนหันมาเป็นพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ รวมถึงออฟไลน์เปิดร้านค้าขายเพิ่มขึ้นมากมาย จะร้านเล็กร้านใหญ่หรือเปิดท้ายขายของที่ตลาดสังกะสีก็สุดแท้แต่ทุนที่หากันมาได้นั่นเองทุกคนที่หันมาสร้างธุรกิจส่วนตัว

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

sixteen + three =